Sponsor's Link

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ราคาพิเศษ (ตอน 2/2)

ก่อนอื่นขอบอกว่าใช้วิธีการคำนวณแบบเดียวที่ใช้ในบทความเรื่อง วิธีคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ครับ

ตัวอย่างการคำนวณ
นาย A มีอายุ 26 ปี เพิ่งถอยรถยนต์ป้ายแดง ขนาด 1800 cc  ออกมาที่ใช้งานแบบส่วนบุคคล โดยใช้ด้วยกันกับน้องชาย อายุ 20 ปี ต้องการทำประกันภัยชั้น 1 แบบระบุคนขับ ขอวงเงินคุ้มครองตัวรถ จำนวน 800,000 บาท รถยนต์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ ทั้งนี้ ลองมาดูการกำหนดความต้องการ แบบประหยัด แบบเหมาะสม และแบบเต็มเหนี่ยวกัน

สิ่งที่เหมือนกัน
§  รถขนาด 1800 cc อายุ 1 ปี
§  ระบุคนขับ ใช้งานแบบส่วนบุคคล
§  วงเงินคุ้มครองตัวรถ 800,000 บาท

สิ่งที่บริษัทประกันอาจจะเสนอราคาที่ต่างกันไป
ประเด็นเปรียบเทียบ
แบบประหยัด
แบบปานกลาง ตามความเหมาะสม
แบบเต็มเหนี่ยว
ความคุ้มครอง ทส./ครั้ง
200,000 บาท
1,000,000 บาท
unlimited
บจ. / คน
100,000 บาท
500,000 บาท
unlimited
บจ. รวม / ครั้ง
10 ล้านบาท
10 ล้านบาท
unlimited
ร.ย. 01
(ประกันอุบัติภัย)
ไม่เอา
เอาเฉพาะ (1 – 3)
1 คนขับ
+ 3 ผู้โดยสาร
คนละ 100,000 บาท
เอา (1 – 4)
1 คนขับ
+ 6 ผู้โดยสาร
(
1-3) คนละ 100,000 บาท
(4) คนละ 500 บาท / สัปดาห์
ร.ย. 02
(รักษาพยาบาล)
50,000 บาท x 2 คน
100,000 บาท x 4 คน
500,000 บาท x 7 คน
ร.ย. 03 (ประกันตัว)
70,000 บาท
300,000 บาท
300,000 บาท
จ่ายค่าเสียหายส่วนแรก
2,000 บาท
2,000 บาท
ไม่จ่าย
เบี้ยประกันเบื้องต้น
17,092 - 29,666
19,426 - 32,220
22,429 - 35,467

หมายเหตุ: ให้ลองดาวน์โหลดไฟล์  excel และไฟล์พิกัดอัตราเบี้ยประกันมาดูประกอบด้วยนะครับ

จะเอาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ราคาถูกหรือราคาเทพดี
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสูตรตายตัวครับ เพราะมันอยู่ที่องค์ประกอบอื่นและการเลือกของเรา เช่น
§  ถ้าสถิติการเยียวยาการบาดเจ็บคนถูกรถชนไม่เกิน 1,000,000 บาท เราอาจจะเลือก unlimited เฉพาะบจ./ครั้ง แต่ บจ. / คนไม่จำเป็นต้อง unlimited ก็ได้ ถ้าเราประเมินว่าเราอาจจะขับรถไปชนรถทัวร์บนทางด่วนจนรถทัวร์เสียหลักตกทางด่วน
§  ถ้าเราคิดว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เราขับรถไปชนจนเสียหายมักมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือก ทส. เป็น unlimited
§  ถ้าเราขับรถแบบสปอร์ต ขับเดี่ยวตลอด เราอาจจะลดจำนวนคนสำหรับ รย 01 กับ รย 02 ลง และยิ่งหากเรามีประกันอุบัติภัยหรือประกันชีวิตอื่นอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่จำเป็น (แต่เบี้ยประกันลดหลักร้อย)

สรุปภาพ

จากเนื้อหาทั้งตอนที่ 1 และตอนนี้ ข้อคิดก็คือว่า อย่าเพิ่งดีใจว่าเราได้ทำประกันกัน 1 แล้วจนลืมดูเงื่อนไขหรือสิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง บางทีมันอาจจะด้อยกว่าประกันภัยรถยนต์แบบ 2+ หรือ 3+ ก็เป็นได้ครับ และถ้าจะทำประกันภัยชั้น 1 ที่คุ้มครองแบบเทพ เบี้ยประกันก็แพงจนหูตูบครับ

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ราคาพิเศษ (ตอน 1/2)

คำถามหนึ่งที่มักพบเสมอในเว็บบอร์ดสำหรับคนที่จะกำลังจะทำประกันภัยรถยนต์ ไม่ว่าจะทำเพราะแถมมากับรถป้ายแดง ทำเพราะถูกไฟแนนซ์บังคับให้ทำ หรือทำเพราะสมัครใจทำจริงๆตามชื่อที่เรียกว่าประกันภาคสมัครใจก็ตาม นั่นก็คือคำถามที่ว่า “ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ราคา ... แพงมั้ย” และคำถามอื่นๆในทำนองนี้ เพราะเป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องการความคุ้มค่าในขณะเดียวกันก็อยากประหยัดเงิน (ขอจ่ายเงินให้น้อยที่สุด แต่อยากได้ของดีมากที่สุด) แต่คนถามมักไม่โพสต์รายละเอียดกรมธรรม์มาให้ดูด้วย

ตัวเปรียบเทียบว่าเบี้ยประกันว่าเจ้าไหนถูกหรือราคาแพง
ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาจะทำประกันภัยรถยนต์อย่างไรดี รวมถึงตัวอย่างการคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไปแล้ว แต่ถ้ายังงงอีก มาดูแบบง่าย ๆ ก็คือสุดก็มาดูประเด็นหลัก ๆ ที่พอจะช่วยพิจารณาว่าเบี้ยประกันนั้นถูกหรือแพงได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ถ้าตัดเรื่องที่มันเหมือน ๆ กันออก เช่น รถคันเดียวกัน การระบุ/ไม่ระบุคนขับ การซ่อมห้าง/ซ่อมศูนย์ เป็นต้น ให้ดูประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้เปรียบเทียบกันเพราะบริษัทประกันภัยแต่ละที่อาจจะให้ได้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

§  จำนวนเงินเอาประกันภัย โดยทั่วไปจะได้ 85% ของราคาตลาดของรถยนต์
§  ความคุ้มครอง ทส./ครั้ง เริ่มต้นที่ 200,000 บาท จนถึง Unlimited
§  ความคุ้มครอง บจ. โดยมี 2 อย่างประกอบกัน
o   บจ. / คน เริ่มต้นที่ 100,000 บาท จนถึง Unlimited
o   บจ. รวม / ครั้ง เริ่มต้นที่ 10 ล้านบาท จนถึง Unlimited
§  การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย. 01) ตามจำนวนผู้โดยสารและคนขับ ประกอบด้วย
1.      สูญเสีย ชีวิต
2.      สูญเสีย มือ เท้า สายตา
3.      ทุพพลภาพถาวร
4.      ทุพพลภาพชั่วคราว
การเลือกประกันส่วนนี้จะกำหนดตายตัวไว้ 2 แบบ โดยเลือกแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้ง 2 แบบ คือ
o   คุ้มครองตามข้อ 1 2 และ 3 รวมกัน
o   คุ้มครองตามข้อ 4
§  การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล (ร.ย. 02) ตามจำนวนผู้โดยสารและคนขับ เริ่มต้นที่คนละ 50,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
§  การคุ้มครองการประกันตัวผู้ขับขี่ (ร.ย. 03) ใช้กรณีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
§  มีค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจจ่ายหรือไม่
หมายเหตุ:
บจ. หมายถึง ความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกหรือผู้โดยสารในรถ
ทส. หมายถึง ความรับผิดต่อความเสียหายของทรัพย์สินบุคคลภายนอก

ระวังติดกับดักประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบประหยัด
ถ้าเราเคยขึ้นเครื่องบินหรือแม้แต่รถไฟไทย เราคงเคยได้ยินคำว่าที่นั่งชั้น 1 (first class) ซึ่งคนที่นั่งชั้นนี้จะมีอภิสิทธิ์และมีความแตกต่างกันกับคนที่นั่งชั้นประหยัด (economy class) ที่เห็นได้อย่างเห็นได้ชัดเจน หลายคนที่จะทำประกันภัยรถยนต์ก็เลยอยากได้ชั้น 1 เพราะมีจินตนาการไว้ในหัวสมองว่าชั้น 1 คืออภิสิทธิ์ชน แต่ก็อยากจ่ายให้น้อยที่สุด จึงมีบริษัทประกันบางเจ้าหัวใสทำแพ็คเกจประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบประหยัด (ซึ่งความหมายมันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง)

คำว่าชั้น 1 ของประกันภัยรถยนต์นั้นมันเป็นภาษาทางการตลาด มันจึงหมายถึงขอบเขตการคุ้มครองที่กว้างขึ้นตามตัวเปรียบเทียบที่กล่าวไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนเงินที่คุ้มครองแต่ละตัวมันจะมากหรือน้อยมันก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะชั้น 1 ของการประกันภัยรถยนต์มันไม่ได้มีความหมายแบบเดียวกับที่นั่งบนเครื่องบินนั่นเอง และมันไม่ใช่หมายถึงเรามีอภิสิทธิ์เหนือชั้นกว่าใครอย่างที่หลายคนเข้าใจผิดเช่นกัน เช่น คิดว่า ถ้าเราขับรถไปชนรถคนอื่นที่มีประกันชั้น 1 แล้ว เราไม่ต้องรับผิดอะไร เป็นต้น ซึ่งผมก็เคยเขียนบทความไว้ว่า ประกันภัยชั้น 1 ก็ไม่ใช่เทพ
อ่านมาเยอะแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจว่า จะได้ของถูกจริงหรือป่าว หรือทำยังไงให้ได้ของถูกแต่ดี เชิญติดตามประกันภัยรถยนต์ชั้น 1ราคาพิเศษ ตอน 2 ครับ

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 pantip ก็ไม่ใช่เทพ

ผมมักจะพบคำว่า ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 pantip” ใน Google จนอดคิดไม่ได้ว่า ใครหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นอีกแบรนด์หนึ่งก็เป็นได้ เนื้อที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นความเข้าใจผิดของใครหลายคนที่มักจะไปตั้งกระทู้ ตอบกระทู้ในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (แต่ถูกภาษาการตลาดเปลี่ยนเป็นประกันชั้น 1 ให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าเป็นประกันเหนือชั้น) ก็เลยขอเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อบทความ ไม่ได้มีเจตนาจะเข้าข้างบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด และผมเองก็ไม่ใช่คนขายประกันด้วย

สิ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (ประกันชั้น 1)
คนทั่วไปมักคิดว่า ถ้าทำประกันภัยรถยนต์แล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ภาระทุกอย่างจะเป็นของบริษัทประกันภัย ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องระหว่างเรากับคู่กรณีโดยตรง (ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างแบบขำ ๆ ไว้ในเรื่อง “ประกันภัยรถยนต์ไม่ใช่เทพ”) ส่วนบริษัทประกันภัยนั้นมีหน้าที่แบ่งเบาภาระเราตามสัญญาในกรมธรรม์ระหว่างเรากับบริษัทประกันภัย ดังนั้น ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ชดเชยคู่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปคุยกับประกันของเราว่าทำไมไม่ทำตามสัญญา ไม่ใช่ให้คู่กรณีไปไล่เบี้ยเอาเอง เหมือนเราเป็นเจ้าหนี้นาย A แต่เราก็เป็นลูกหนี้นาย B ด้วย ถ้านาย B มาทวงเงินเรา เราก็ต้องจ่าย ไม่ใช่ชิ่งให้นาย B ไปเอาเงินจากนาย A โดยอ้างว่าเราเป็นเจ้าหนี้เขา

ทำไมจึงเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรับผิดของประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (ประกันชั้น 1)
เอาแบบตรงไปตรงมา หลัก ๆ คือ
1.       จิตสำนึกความรับผิดชอบของเราเอง
2.       การซิกแซกของเจ้าหน้าที่เคลมประกันที่หาทางช่วยลูกค้าตัวเองแบบผิด ๆ (จนลูกค้าเข้าใจว่าถูกต้อง)
3.       เมื่อซื้อรถแบบผ่อน คนซื้อจะถูกบังคับให้ทำประกันภัยชั้น 1 เลยคิดว่ามัน Top สุด ๆ แล้วแต่ที่จริงที่มัน Top เพราะมันมีได้เท่านี้

แล้วจะทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ไปทำไม
ความจริงมันมีอยู่ว่า ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เป็นประกันภัยรถยนต์แบบสมัครใจทำ (นอกเหนือประกัน พรบ. ที่กฎหมายบังคับให้ทำก่อนต่อทะเบียนรถยนต์แต่ละปี) โดยกำหนดขอบเขตความคุ้มครองเบื้องต้นทั้ง 4 ด้าน คือ
1.       คุ้มครองตัวรถ (ของเราที่ทำประกันภัยให้) กรณีเกิดอุบัติเหตุ
2.       คุ้มครองตัวรถ (ของเราที่ทำประกันภัยให้) กรณีสูญหายหรือไฟไหม้
3.       คุ้มครองบุคคลที่ 3 (ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในรถเราหรืออยู่นอกรถ)
4.       คุ้มครองตัวรถและทรัพย์สินของคนอื่น (ที่เราขับรถของเราตามข้อ 1. ไปชนเขาเข้า)
ถ้าคิดแบบแค่ผิวเผินแล้ว มันดูเหมือนว่ามันครอบจักรวาลแล้ว แต่จะมีน้อยคนที่จะเข้าใจ (หรือทำใจยอมรับ) ว่ามันเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นเท่านั้น มันยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยอีกเยอะ เช่น ใครเป็นฝ่ายผิด ตั้งใจให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่

ตัวอย่างการไล่เบี้ยความรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ (แม้จะชั้น 1 ก็ตาม)
เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้ จะมีสักกี่คนจะเข้าใจว่า การไล่เบี้ยของบริษัทประกันภัยก็จะต้องต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายด้วย บางทีเราก็อาจจะถูกโกงแบบไม่รู้ตัว แต่บางครั้งเราก็ชอบคิดแบบเขาข้างตัวเอง (โกงคนอื่น) ขอยกตัวอย่างกรณีคลาสสิค ได้แก่
1.       การคุ้มครองทรัพย์สินที่บรรทุกอยู่ในรถ: ตอนเดินทางเราอาจจะมีสิ่งของติดรถไปด้วย สมมติว่า เราเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ติดไปกับรถด้วย แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วคอมพิวเตอร์มันเสียหาย ใครจะรับผิดชอบกับความเสียหายของคอมพิวเตอร์นี้
a.       กรณีเราเป็นฝ่ายผิด เช่น ขับรถไปชนรถคนอื่น กรณีนี้บริษัทประกันภัยจะชดเชยค่าเสียต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกแน่ ๆ ดังนั้น ถ้าในรถของคู่กรณีมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในรถ และเมื่อเกิดเหตุ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็เสียหายด้วย บริษัทประกันภัยฝ่ายเราจะชดใช้ค่าเสียหายของเครื่องคอมพิวเตอร์ของคู่กรณีด้วย  แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในรถเรานั้น จะอยู่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของประกันภัยฝ่ายเราเลย
b.       ในทางกลับกันกรณีเราเป็นฝ่ายถูก เบื้องต้นบริษัทประกันฝ่ายเราจะรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายของตัวรถเท่านั้น (จากนั้นเขาจะไปตามเก็บจากคู่กรณีของเราภายหลัง) แต่ถ้าทรัพย์สินอื่นที่บรรทุกเสียหาย เราต้องไปเรียกร้องจากคู่กรณีเอง ก็ต้องดูอีกว่า คู่กรณีมีประกันภัยรถยนต์หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องดูอีกว่าประกันภัยฝ่ายคู่กรณีเขาจำกัดความคุ้มครองไว้อย่างไรบ้าง
2.       กรณีไม่มีใบขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุ
a.       กรณีเราเป็นฝ่ายผิดและมีใบขับขี่ ประกันจะรับผิดชอบทุกอย่างตามกรมธรรม์ แม้ว่าคู่กรณีจะไม่มีใบขับขี่ หรือรถคู่กรณีไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ก็ไม่เป็นเหตุให้เราพ้นผิด ส่วนคู่กรณีก็ถูกเปรียบเทียบปรับข้อหาไม่มีใบขับขี่หรือไม่ติดป้ายทะเบียนไป (มันคนละส่วนกัน)
b.       กรณีเราเป็นฝ่ายผิดและไม่มีใบขับขี่ โดยพื้นฐานเบื้องต้นคือ ประกันจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีอาจจะมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมที่ต่างกันไปตามแต่โปรโมชั่น


โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ไม่ใช่ทุกอย่างจะลงเอยไปที่บริษัทประกันภัยเสมอไป มันจะเป็นไปได้ในกรณีเดียวก็คือว่า เราพบข้อสัญญาที่ว่า “เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว บริษัทประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 จะรับผิดชอบทุกอย่างเสมือนเป็นผู้ขับขี่ด้วยตนเอง” แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะมีข้อนี้ครับ