Sponsor's Link

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เข้าใจง่าย ๆ กับการใช้งานประกันภัยรถยนต์

เป็นการยากจริง ๆ ที่เราจะตั้งใจอ่านสัญญาในกรมธรรม์ เพราะภาษากฎหมายนี่มันต้องแปลไทยเป็นไทย (ทำไมไม่เขียนให้มันอ่านง่าย ๆ ก็ไม่รู้) หลายคนก็ต่อกรมธรรม์ไปเพราะรู้ว่ามันต้องทำ (ก็แค่นั้น) แต่พอเกิดอุบัติเหตุหรือคราวต้องเคลมประกันแล้ว กลับทำตัวไม่ถูก

ขออธิบายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เอาแบบเข้าใจง่าย ๆ หวังว่าจะช่วยให้เรารักษาผลประโยชน์ของเราได้อย่างเต็มที่ และจะได้ไม่ไปตบตีกับบริษัทประกันแบบมั่ว ๆ

สิทธิประโยชน์ที่ควรจำ
·      กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะมีผลทันทีหลังชำระเบี้ยประกัน (จะชำระที่บริษัทประกันหรือนายหน้าผู้เอาประกันก็ตาม)  ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องขอใบเสร็จรับเงินทันทีและเก็บใบเสร็จรับเงินดีๆ
·      ถ้ารถเกิดความเสียหายสิ้นเชิง (total loss หรือมักพูดสั้นๆกันว่า ตีเป็น loss) ซึ่งมันเป็นสภาพที่ไม่สามารถซ่อมกลับคืนดังเดิมได้ บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเงินให้แก่เรา (ผู้เอาประกัน) เต็มทุนประกัน และรถคันนั้นจะตกเป็นทรัพย์สินของบริษัทประกันภัย ไป แต่ถ้าเราซื้อผ่อนกับไฟแนนซ์ ก็จะมีสัญญาให้เราโอนค่าประกันนี้ให้ไฟแนนซ์โดยตรง แล้วค่อยมาเคลียร์ส่วนต่างกันภายหลัง
·      ค่าเสียหายส่วนแรกส่วนค่าเอ็กเซส (excess) ในกรณีไม่มีคู่กรณีจะจ่ายเพียง 1,000 บาท เท่านั้น แต่ถ้าคนอื่นขับไปทำให้เกิดความเสียหาย (เป็นฝ่ายผิด) ต้องจ่าย 2,000 - 6,000 บาท ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับข้อตกลงเกี่ยวกับการตกลงจ่ายค่าส่วนแรกส่วน deductible แบบสมัครใจด้วย
·      การดูแลขนย้ายรถที่เสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุเพื่อไปซ่อมที่อู่ เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันตั้งแต่หลังเกิดเหตุจนกระทั่งซ่อมเสร็จ ดังนั้น แม้ว่าระหว่างนั้นจะต้องย้ายรถไปโรงพักหรือที่ใดก่อนก็ตามเพราะเหตุนี้ บริษัทประกันภัยก็จะต้องรับภาระส่วนนี้ แต่ไม่เกินร้อยละยี่สิบของค่าซ่อม
·      ค่าอะไหล่ที่เกิดจากการซ่อม ผู้เอาประกันสามารถเรียกร้องเป็นเงินตามราคาประเมินเพื่อนำไปจัดหาเองได้ เพราะบางครั้งเราก็ไม่มั่นใจหรอกว่า อู่ที่บริษัทประกันมีอยู่จะไช้อะไหล่รถแท้หรือป่าว 
·      ถ้าขับรถชนกับรถคู่กรณีที่ไม่มีประกันภัยและรถของเราเป็น ฝ่ายถูก ต้องตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยว่าตามรายงานอุบัติเหตุนั้น รถของคุณเป็นฝ่ายถูกจริงเหรอ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์
·      กรณีเราเป็นฝ่ายถูก หากรถต้องซ่อมนาน เรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มระหว่างไม่มีรถใช้แน่นอน อย่าลืม "เรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม" จากบริษัทประกันของคู่กรณี 

ข้อปฏิบัติที่ควรจำ
·      ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่าเราเป็นฝ่ายถูกหรือผิด เราก็ไม่จำเป็นต้องเซ็นต์ชื่อรับผิดในใบเคลม (มันไม่ใช่กฎ กติกา มารยาท หรือข้อกฏหมายใด) การตรวจสอบหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของบริษัทประกัน (ต้องจัดไป)
·      ห้ามหนีในกรณีที่ขับรถชนคน ถ้าหนีจะเป็นเหตุให้เราติดคุกทันที (ไม่รับผิดชอบ)  การให้ช่วยเหลือคนเจ็บให้เต็มที่ รวมถึงการถ่ายรูปหลักฐานที่เกิดเหตุไว้ต่อสู้คดี บางทีโทษทางอาญาอาจเหลือแค่การรอลงอาญา และตกลงค่าเสียหายกันตามสมควร อย่างน้อยถ้าเราไม่ใช่คนเลวบริสทธิ์แล้ว ศาลจะพิจารณาจากความมีน้ำใจที่เราช่วยเหลือผู้อื่น (แสดงความรับผิดชอบโดยยอมรับความผิดนี้)
·      หากภายในรถมีการการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมจากโรงงานหลังจากที่ทำประกันไปแล้ว เช่น เครื่องเสียงชั้นดี ระบบก๊าซ CNG (หรือที่เรียกทั่วไปว่า NGV) ระบบก๊าซ LPG เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบ ไม่เช่นนั้น หากเกิดเหตุและรถคันเอาประกันเป็นฝ่ายผิด ความคุ้มครองที่จะได้รับจากการประกันอาจไม่สมบูรณ์ได้ (ได้สินไหมทดแทนเฉพาะแต่ตัวรถ นอกนั้นจะไม่รับเคลม) แต่แน่นอนว่า มูลค่าของทรัพย์สินที่ประกันจะเพิ่มขึ้น บริษัทประกันก็อาจจะเรียกเบี้ยประกันเพิ่มเติมได้
·      *** กรมธรรม์จะไม่คุ้มครองความเสียหายในขณะที่รถอยู่ระหว่างการลากจูง การขับรถขณะที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ การขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ เว้นแต่ในกรณีที่ทำประกัน ประเภทระบุชื่อคนขับ และความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในขณะที่คนระบุชื่อเป็นผู้ขับขี่
·      กรมธรรม์คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก ดังนั้น สมมติว่าถ้าขับรถชนบ้านตัวเอง บ้านคู่สมรส บ้านบิดามารดา บ้านลูกตัวเอง หรือแม้แต่ลูกจ้าง บริษัทประกันไม่จ่ายให้กับความเสียหายของทรัพย์สินที่ว่านี้ (เพราะไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก) จะจ่ายเฉพาะการซ่อมรถเราเท่านั้น (ถ้าเลือกกรมธรรม์ภาคสมัครใจประเภท 1 หรือประเภท 5)
·      กรณีต้องนำเข้าอะไหล่ ประกันภัยประเมินชดเชยตามราคาอะไหล่แบบขนส่งทางเรือ ถ้าแพงเพราะใช้บริการขนส่งแบบอื่น ประกันจะไม่จ่ายในส่วนที่เกินมานี้

ข้อควรทราบ
ประกันภัยมักมีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขพิเศษ ควรศึกษาสัญญาแบท้ายต่าง ๆ ที่มี เช่น ยางรถยนต์มักจะถูกถือว่าเป็นสิ่งที่เสื่อมค่าจากการใช้งาน อาจจะเคลมไม่ได้ถ้าไม่มีหลักฐานชัดว่าเสียหายเพราะอุบัติเหตุ (เช่น กะทะล้อต้องมีร่องรอยอุบัติเหตุ) และแม้พิสูจน์ได้แล้วว่าเสียหายจากอุบัติเหตุ ประกันภัยก็อาจจะรับผิดชอบเพียง 50% ของมูลค่ายางเท่านั้น

อย่าลดความรับผิดชอบเราลงให้เท่ากับประกันภัย

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การมีประกันภัยรถยนต์ที่ดีคือ 
จิตสำนึกของความรับผิดชอบ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นและเราเป็นฝ่ายผิด เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด อย่าลืมว่า ประกันภัยไม่ใช่เทพที่คอยรับผิดแทนเราหมด ประกันภัยรถยนต์ช่วยรับภาระบางส่วนตามขอบเขตความคุ้มครองที่ให้สัญญาไว้กับเราเท่านั้น (แม้แต่ประกันภัยชั้น 1 ก็ไม่ใช่เทพ ตามที่หลายคนเข้าในผิด ถ้าลองไปหาอ่านใน pantip จะพบว่าหลายคนเข้าใจเรื่องประกันชั้น 1 แบบผิด ๆ) และหากบริษัทประกันภัยไม่ทำตามสัญญา มันก็ควรเป็นหน้าที่เราที่จะต้องติดตามทวงถามค่าทดแทนต่าง ๆ จากบริษัทประกัน (เหมือนเราเป็นเจ้าหนี้นาย ก. แต่นาย ก. เป็นเจ้าหนี้นาย ข. ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราไปทวงหนี้นาย ก. แต่นาย ก. บอกเราว่า ถ้าอยากได้เงินก็ไปทวงกับนาย ข. เอาเอง โดยสามัญสำนึกมันก็บอกเราแล้วว่า การทวงหนี้นาย ข. มันไม่ใช้หน้าที่เรา)

หวังว่าเราจะไม่เบื่อกับการทำความเข้าใจกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วนนะครับ อย่าเพียงแต่ขับรถและได้มีกรมธรรม์ แต่ต้องขับรถแบบใช้กรมธรรม์เป็นด้วยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับกับบทความ ทำให้เข้าใจแนวคิดและภาพรวมเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์

    ตอบลบ