Sponsor's Link

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำประกันภัยรถยนต์ อย่างไรดี

ในประเทศไทยมีบริษัทที่รับประกันวินาศภัยประมาณกว่า 70 บริษัท และบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่มีอยู่ถึง 6 บริษัท และจากสถิติการเลือกบริษัทประกันภัยนั้น อันดับหนึ่งคือเลือกเพราะแถมมากับการซื้อรถหรือการผ่อนรถนั่นเอง (บังคับเลือกเสียมากกว่าเพราะการตลาดมันครอบงำอยู่)

ไม่ต้องแปลกใจอะไรครับ ถ้าหากเราคิดไม่ออกว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี หรือไม่ก็คงเลือกยากพอสมควร แม้จะไปค้นในกูเกิลว่า "ประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี pantip" ก็ยังไม่ค่อยจะได้คำตอบดีนัก และการพูดคุยกันตามเว็บบอร์ดว่าเจ้าไหนราคาถูกหรือแพงก็ไม่ได้มีรายละเอียดว่า เงื่อนไขในกรมธรรม์เป็นอย่างไร และแทบจะไม่มีใครพูดถึงว่าควรเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ควรทำอย่างไร

ยิ่งกว่านั้นแต่ละบริษัทก็ต่างทำโฆษณากรอกหูเรา ๆ ท่าน ๆ (ที่กำลังคิดอยู่ว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี) ว่าบริการของเขาดีอย่างไร เช่น มาเร็ว เคลมเร็ว ใจเขา ใจเรา มันก็ไม่แปลกอะไร เพราะถ้าไม่ทำแคมเป็ญการตลาด ก็อาจจะเจ๊งในเร็ววัน (ส่วนการบริการมันจะเป็นตามที่โฆษณาไว้หรือไม่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

เข้าเรื่องเสียที ในที่นี้ขอพูดถึงการเลือกประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยแนวทางที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจจะช่วยให้เรา ๆ ท่าน ๆ จ่ายเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและรอดพ้นจากการนำเสนอขายแพงเกินจริง  (เพราะไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย)

1. กำหนดความคุ้มครองที่ต้องการก่อน

ก. ความคุ้มครองต่อเรา
ปัจจุบันวงเงินความคุ้มครองความเสียหายต่อบุคคลภายนอกมักจะไม่แตกต่างกันมากนัก ให้กำหนดความคุ้มครองต่อรถเราโดยตรงเลย หลัก ๆ เช่น
·          ลักษณะความคุ้มครองที่ใช้กับรถ (ใช้ส่วนตัว / รับจ้าง / ให้เช่า / ฯลฯ)
·          ประเภทประกันภัยรถยนต์ที่ต้องการ 
·          จะซ่อมอู่หรือซ่อมห้าง  (สำหรับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1)
·          วงเงินเอาประกันที่ต้องการ (ปกติจะได้ไม่เกิน 80% ของราคาประเมินรถ)
. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อลดเบี้ยประกัน
·          สมัครใจจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือไม่  (เบี้ยประกันจะลดตามที่เราสมัครใจจ่าย)
·          ระบุชื่อคนขับหรือไม่ (ระบุคนขับเสียเบี้ยประกันน้อยกว่า)
·          ระบุขอบเขตพื้นที่ของการใช้รถ (ขับในเมืองอย่างเดียว / ขับทั่วไปประเทศ / ขับไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน)
ค. กำหนดความต้องการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
·          ส่วนลดจากประวัติดี สามารถโอนย้ายไปบริษัทประกันภัยอื่นได้หรือไม่ เท่าไหร่
·          มีสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมกรณีอุบัติเหตุอะไรบ้าง เช่น เมื่อมีความเสียหาย เราต้องการเปลี่ยนอะไหล่แท้หรืออะไหล่เทียบเท่า หรือซ่อม
·           กรณีเราขับรถชนคน มีวงเงินประกันตัวหรือค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาลหรือไม่ เท่าไหร่
·          การเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม หรือการมีรถใช้ระหว่างซ่อม
o                  กรณีเราเป็นฝ่ายถูก มีบริการเรียกสินไหมจากคู่กรณีที่ไม่มีประกันด้วยหรือไม่ หรือเรามีรถให้ใช้ระหว่างซ่อมหรือไม่
o                  กรณีเราเป็นฝ่ายผิด คู่กรณีเรียกสินไหมจากประกันภัยของเราได้หรือไม่

2. เตรียมข้อมูลก่อนติดต่อบริษัทประกันภัย
·          สำเนาเล่มทะเบียนรถ (นอกเหนือข้อมูลรถเอาประกันแล้ว จะได้ข้อมูลสำหรับคำนวณเบี้ยประกันทั้งหมดด้วย)
·          สำเนาบัตรประชาชนคนเอาประกัน / คนขับ  (กรณีต้องการกรมธรม์แบบระบุชื่อคนขับ)
·          ราคารถตามราคาตลาด ณ ตอนทำประกันภัย  (กรณีต่ออายุประกัน เพื่อกำหนดวงเงินคุ้มครอง)
·          รายการอุปกรณ์ที่ติดตั้งเสริมเข้าไป (เพื่อการคุ้มครองที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ค่าเบี้ยประกันอาจจะแพงขึ้น)
3. ขอการเสนอราคา (เบี้ยประกัน) จากบริษัทประกันภัยหลาย ๆ เจ้า
ทั่ว ๆ ไปนิยมเลือกทำ 2 แบบ

ก. ติดต่อตัวบริษัทโดยตรง ข้อดีคือ เขาอาจจะตอบข้อสักถามพวกปลีกย่อยได้ดีกว่า แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้บริการแปลกแหวกแนวอะไร เพราะมันเป็นสินค้าแบบมวลชน (mass product) แนวทางดำเนินการต่าง ๆ แบบเดียวกัน (ไม่ต่างการสมัครใช้งานบัตรเครดิต) แต่เราต้องหาข้อมูลสำหรับเลือกบริษัทประกันภัยเอง แนวทางที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ
·          มีคนเลือกใช้บริการมากที่สุด
·          การการประกันภัยตรงความต้องการของเรามากที่สุด
·          จ่ายค่าสินไหมทดแทนตรงตามที่นัดไว้
·          ให้บริการรวดเร็ว 
ข. ติดต่อโบรกเกอร์ประกัน ข้อดีคือ เราจะได้บริการที่ค่อนข้างรวดเร็ว และช่วยคัดบริษัทประกันภัยให้แก่เราในเบื้องต้น (ข้อมูลต่าง ๆ อาจจะแม่นกว่าเรา เพราะขายมาเยอะ) และเรามักจะได้ของสมนาคุณหรือบริการต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่บริษัทประกันเองมีให้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโบรกเกอร์ได้ค่านายหน้าจากบริษัทประกันนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรเลือกโบรกเกอร์ที่มีชื่อเสียงดีหน่อย ไม่งั้นเขาอาจจะเชียร์เฉพาะเจ้าที่ให้คอมมิชชั่นเขาสูง ๆ

4. คัดเลือกบริษัทประกันภัย บางครั้งสิ่งที่บริษัทประกันให้มา ก็อาจจะไม่ตรงกับที่เราต้องการเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประกันภัยชั้น 1 ให้เปรียบเทียบประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้
·          เปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยกับความคุ้มครองที่ได้ อย่าเอาราคาถูกหรือส่วนลดเข้าว่า แต่พอถึงเวลาเคลม เราอาจจะไม่ได้ตามที่คาดก็ได้
·          เปรียบเทียบกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยแต่ละเจ้า ดูว่าเงื่อนไขและข้อกำหนดของบริษัทไหนให้ประโยชน์มากกว่ากัน
·          ควรตรวจสอบข้อความต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และทำความเข้าใจความหมายของถ้อยคำในกรมธรรม์ให้ดี ไม่เช่นนั้น เงื่อนไข และข้อกำหนด หรือข้อยกเว้นต่างๆ ในกรมธรรม์ อาจทำให้เราเสียเปรียบได้

5. หาผู้ช่วยก่อนและหลังคัดเลือกคัดเลือกบริษัทประกันภัย
การขอให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์มาช่วย การหาข้อมูลจากคนรู้จักหรือข้อมูลจากการโพสต์กระทู้ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ดี เพราะการมีกรมธรรม์ประกันภัยที่มีเงื่อนไขที่ดีกับการเรียกร้องค่าเสียหายตอนเคลมนั้น บางทีมันอาจจะต่างกันราวฟ้ากับเหว ไม่ได้ชิล ๆ อย่างที่เราหวังไว้ 

ตัวอย่างเช่น
·          การประเมินความเสียหายอาจจะแตกต่างกันไป  (เราว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่เขาว่าซ่อมก็พอ)
·          บางทีบริษัทประกันเองมักจะขอเจรจาต่อรองค่าเสียหาย  (โดยเฉพาะตอนที่เขาต้องจ่ายเงินชดเชยมาก ๆ)
จะเห็นว่า การซื้อประกันภัยรถยนต์จึงไม่ใช่เอาแต่ราคาถูกเข้าว่า ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขกรมธรรม์แต่ละส่วนให้เรียบร้อย และตอนรับกรมธรรม์มาก็อย่าลืมตรวจดูเงื่อนไขต่างๆว่าตรงกับที่เราต้องการ หรือตรงกับเบี้ยประกันที่เราจ่ายบริษัทประกันด้วยหรือไม่นะครับ  สำหรับท่านที่อยากจะลองคำนวณเบี้ยประกันขั้นต้น ลองดูแนวทางใน เบื้องหลังเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ตอนที่ 3 จะมีไฟล์ excel ให้ดาวน์โหลดแล้วลองใส่ตัวเลขดูด้วยตนเองก่อนครับ


1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเราไม่ได้ถ่ายใบเครมคู้กรณีไว้แต่เราเป็นฝ่ายถุกและรถเราเป็นรถเข้าซ่อมเป็นเวลา4วันเรายังมีสิทเรียกร้องได้ยุรึเปล่าค่ะเพราะรถเราเป็นรถร่วมบริสัทต้องเสียรายได้ไป

    ตอบลบ