Sponsor's Link

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำประกันภัยรถยนต์ อย่างไรดี

ในประเทศไทยมีบริษัทที่รับประกันวินาศภัยประมาณกว่า 70 บริษัท และบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่มีอยู่ถึง 6 บริษัท และจากสถิติการเลือกบริษัทประกันภัยนั้น อันดับหนึ่งคือเลือกเพราะแถมมากับการซื้อรถหรือการผ่อนรถนั่นเอง (บังคับเลือกเสียมากกว่าเพราะการตลาดมันครอบงำอยู่)

ไม่ต้องแปลกใจอะไรครับ ถ้าหากเราคิดไม่ออกว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี หรือไม่ก็คงเลือกยากพอสมควร แม้จะไปค้นในกูเกิลว่า "ประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี pantip" ก็ยังไม่ค่อยจะได้คำตอบดีนัก และการพูดคุยกันตามเว็บบอร์ดว่าเจ้าไหนราคาถูกหรือแพงก็ไม่ได้มีรายละเอียดว่า เงื่อนไขในกรมธรรม์เป็นอย่างไร และแทบจะไม่มีใครพูดถึงว่าควรเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ควรทำอย่างไร

ยิ่งกว่านั้นแต่ละบริษัทก็ต่างทำโฆษณากรอกหูเรา ๆ ท่าน ๆ (ที่กำลังคิดอยู่ว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี) ว่าบริการของเขาดีอย่างไร เช่น มาเร็ว เคลมเร็ว ใจเขา ใจเรา มันก็ไม่แปลกอะไร เพราะถ้าไม่ทำแคมเป็ญการตลาด ก็อาจจะเจ๊งในเร็ววัน (ส่วนการบริการมันจะเป็นตามที่โฆษณาไว้หรือไม่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

เข้าเรื่องเสียที ในที่นี้ขอพูดถึงการเลือกประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยแนวทางที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจจะช่วยให้เรา ๆ ท่าน ๆ จ่ายเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและรอดพ้นจากการนำเสนอขายแพงเกินจริง  (เพราะไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย)

1. กำหนดความคุ้มครองที่ต้องการก่อน

ก. ความคุ้มครองต่อเรา
ปัจจุบันวงเงินความคุ้มครองความเสียหายต่อบุคคลภายนอกมักจะไม่แตกต่างกันมากนัก ให้กำหนดความคุ้มครองต่อรถเราโดยตรงเลย หลัก ๆ เช่น
·          ลักษณะความคุ้มครองที่ใช้กับรถ (ใช้ส่วนตัว / รับจ้าง / ให้เช่า / ฯลฯ)
·          ประเภทประกันภัยรถยนต์ที่ต้องการ 
·          จะซ่อมอู่หรือซ่อมห้าง  (สำหรับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1)
·          วงเงินเอาประกันที่ต้องการ (ปกติจะได้ไม่เกิน 80% ของราคาประเมินรถ)
. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อลดเบี้ยประกัน
·          สมัครใจจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือไม่  (เบี้ยประกันจะลดตามที่เราสมัครใจจ่าย)
·          ระบุชื่อคนขับหรือไม่ (ระบุคนขับเสียเบี้ยประกันน้อยกว่า)
·          ระบุขอบเขตพื้นที่ของการใช้รถ (ขับในเมืองอย่างเดียว / ขับทั่วไปประเทศ / ขับไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน)
ค. กำหนดความต้องการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
·          ส่วนลดจากประวัติดี สามารถโอนย้ายไปบริษัทประกันภัยอื่นได้หรือไม่ เท่าไหร่
·          มีสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมกรณีอุบัติเหตุอะไรบ้าง เช่น เมื่อมีความเสียหาย เราต้องการเปลี่ยนอะไหล่แท้หรืออะไหล่เทียบเท่า หรือซ่อม
·           กรณีเราขับรถชนคน มีวงเงินประกันตัวหรือค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาลหรือไม่ เท่าไหร่
·          การเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม หรือการมีรถใช้ระหว่างซ่อม
o                  กรณีเราเป็นฝ่ายถูก มีบริการเรียกสินไหมจากคู่กรณีที่ไม่มีประกันด้วยหรือไม่ หรือเรามีรถให้ใช้ระหว่างซ่อมหรือไม่
o                  กรณีเราเป็นฝ่ายผิด คู่กรณีเรียกสินไหมจากประกันภัยของเราได้หรือไม่

2. เตรียมข้อมูลก่อนติดต่อบริษัทประกันภัย
·          สำเนาเล่มทะเบียนรถ (นอกเหนือข้อมูลรถเอาประกันแล้ว จะได้ข้อมูลสำหรับคำนวณเบี้ยประกันทั้งหมดด้วย)
·          สำเนาบัตรประชาชนคนเอาประกัน / คนขับ  (กรณีต้องการกรมธรม์แบบระบุชื่อคนขับ)
·          ราคารถตามราคาตลาด ณ ตอนทำประกันภัย  (กรณีต่ออายุประกัน เพื่อกำหนดวงเงินคุ้มครอง)
·          รายการอุปกรณ์ที่ติดตั้งเสริมเข้าไป (เพื่อการคุ้มครองที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ค่าเบี้ยประกันอาจจะแพงขึ้น)
3. ขอการเสนอราคา (เบี้ยประกัน) จากบริษัทประกันภัยหลาย ๆ เจ้า
ทั่ว ๆ ไปนิยมเลือกทำ 2 แบบ

ก. ติดต่อตัวบริษัทโดยตรง ข้อดีคือ เขาอาจจะตอบข้อสักถามพวกปลีกย่อยได้ดีกว่า แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้บริการแปลกแหวกแนวอะไร เพราะมันเป็นสินค้าแบบมวลชน (mass product) แนวทางดำเนินการต่าง ๆ แบบเดียวกัน (ไม่ต่างการสมัครใช้งานบัตรเครดิต) แต่เราต้องหาข้อมูลสำหรับเลือกบริษัทประกันภัยเอง แนวทางที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ
·          มีคนเลือกใช้บริการมากที่สุด
·          การการประกันภัยตรงความต้องการของเรามากที่สุด
·          จ่ายค่าสินไหมทดแทนตรงตามที่นัดไว้
·          ให้บริการรวดเร็ว 
ข. ติดต่อโบรกเกอร์ประกัน ข้อดีคือ เราจะได้บริการที่ค่อนข้างรวดเร็ว และช่วยคัดบริษัทประกันภัยให้แก่เราในเบื้องต้น (ข้อมูลต่าง ๆ อาจจะแม่นกว่าเรา เพราะขายมาเยอะ) และเรามักจะได้ของสมนาคุณหรือบริการต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่บริษัทประกันเองมีให้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโบรกเกอร์ได้ค่านายหน้าจากบริษัทประกันนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรเลือกโบรกเกอร์ที่มีชื่อเสียงดีหน่อย ไม่งั้นเขาอาจจะเชียร์เฉพาะเจ้าที่ให้คอมมิชชั่นเขาสูง ๆ

4. คัดเลือกบริษัทประกันภัย บางครั้งสิ่งที่บริษัทประกันให้มา ก็อาจจะไม่ตรงกับที่เราต้องการเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประกันภัยชั้น 1 ให้เปรียบเทียบประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้
·          เปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยกับความคุ้มครองที่ได้ อย่าเอาราคาถูกหรือส่วนลดเข้าว่า แต่พอถึงเวลาเคลม เราอาจจะไม่ได้ตามที่คาดก็ได้
·          เปรียบเทียบกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยแต่ละเจ้า ดูว่าเงื่อนไขและข้อกำหนดของบริษัทไหนให้ประโยชน์มากกว่ากัน
·          ควรตรวจสอบข้อความต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และทำความเข้าใจความหมายของถ้อยคำในกรมธรรม์ให้ดี ไม่เช่นนั้น เงื่อนไข และข้อกำหนด หรือข้อยกเว้นต่างๆ ในกรมธรรม์ อาจทำให้เราเสียเปรียบได้

5. หาผู้ช่วยก่อนและหลังคัดเลือกคัดเลือกบริษัทประกันภัย
การขอให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์มาช่วย การหาข้อมูลจากคนรู้จักหรือข้อมูลจากการโพสต์กระทู้ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ดี เพราะการมีกรมธรรม์ประกันภัยที่มีเงื่อนไขที่ดีกับการเรียกร้องค่าเสียหายตอนเคลมนั้น บางทีมันอาจจะต่างกันราวฟ้ากับเหว ไม่ได้ชิล ๆ อย่างที่เราหวังไว้ 

ตัวอย่างเช่น
·          การประเมินความเสียหายอาจจะแตกต่างกันไป  (เราว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่เขาว่าซ่อมก็พอ)
·          บางทีบริษัทประกันเองมักจะขอเจรจาต่อรองค่าเสียหาย  (โดยเฉพาะตอนที่เขาต้องจ่ายเงินชดเชยมาก ๆ)
จะเห็นว่า การซื้อประกันภัยรถยนต์จึงไม่ใช่เอาแต่ราคาถูกเข้าว่า ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขกรมธรรม์แต่ละส่วนให้เรียบร้อย และตอนรับกรมธรรม์มาก็อย่าลืมตรวจดูเงื่อนไขต่างๆว่าตรงกับที่เราต้องการ หรือตรงกับเบี้ยประกันที่เราจ่ายบริษัทประกันด้วยหรือไม่นะครับ  สำหรับท่านที่อยากจะลองคำนวณเบี้ยประกันขั้นต้น ลองดูแนวทางใน เบื้องหลังเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ตอนที่ 3 จะมีไฟล์ excel ให้ดาวน์โหลดแล้วลองใส่ตัวเลขดูด้วยตนเองก่อนครับ


วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประกันภัยรถยนต์ไม่ใช่เทพ

เมื่อเรามีรถ สิ่งที่เรานึกถึงคู่กันก็คือ การทำประกันภัยรถยนต์  บางทีเราเองก็ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่ามีอะไรบ้างที่ประกันภัยรถยนต์ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง ในขณะที่ตัวบริษัทประกันหลายเจ้าต่างก็ทำโฆษณาเพื่อบอกเรา (ที่กำลังหาประกันรถยนต์) ว่าบริการของเขาดีอย่างไร (เช่น มาเร็ว เคลมเร็ว ใจเขา ใจเรา ฯลฯ)  เพื่อโน้มน้าวใจเราให้ไปเลือกใช้บริการจากเขาในขณะที่เรากำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ที่ไหนดี

สิ่งที่เรามักเข้าใจผิด
บรรดาเหล่าโฆษณาของบรษัทประกันภัยที่มักจะให้ภาพว่า เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุแล้ว ทุกอย่างจะจบลงที่บริษัทประกันทั้งหมดราวกับว่าเจ้าของรถที่ทำประกันภัยจะไม่ต้องทำอะไรเลยแม้จะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด  (ซึ่งไม่จริง) ปัญหาที่ตามมาก็คือ ภาพโฆษณาที่มันสื่ออกมามันมาผนวกกับธรรมชาติของเราที่ชอบสบาย ๆ ไม่ชอบความวุ่นวาย  (แถมไม่ชอบอ่านกรมธรรม์)  จนทำให้เราเข้าใจว่า บริษัทประกันจะเป็นนักแก้ปัญหาขั้นเทพแทนเราทุกอย่าง (โดยเฉพาะประกันประเภท แต่เรามักเรียกประกันภัยชั้น 1 จนเหมือนเราเป็นบุคคลพิเศษ ซึ่งก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ) พอบริษัทปฏิเสธการชดเชย (ที่อยู่นอกกรอบความคุ้มครอง) ก็มักจะใช้คำพูดว่า “แล้วจะทำประกัน  (ชั้น 1) ไว้ทำไม (วะ)” ที่มากกว่านั้นก็คือ เรามักเผลอจำกัดจิตสำนึกความรับผิดชอบลงตามความจำกัดของประกันภัย โดยลืมไปว่า ประภัยภัยภาคสมัครใจทั้งหลายมีหน้าที่เพียงแบ่งเบาภาระของเราลงบางส่วน (เท่านั้น) เพราะมันเป็นไปตามข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างเรากับบริษัทประกันภัยนั่นเอง

ถ้าเราผิด เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราทำ  (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

ลองจินตนาการว่า สมมติว่า เพื่อนคนหนึ่งติดหนี้เลี้ยงข้าวเรา 1 มื้อ ให้งบมา 100 บาท (อาจจะเลี้ยงเพราะเราไปช่วยงานเขา หรืออะไรก็ตามที่เขาอยากตอบแทน) ขณะที่เรากำลังเดินหาร้านเราก็มัวเล่น
 Facebook บนมือถือโดยไม่ดูทาง ปรากฎว่าไปเดินชนสาวคนหนึ่งที่กำลังดื่มกาแฟสด กาแฟของเธอคนนั้นก็หกใส่เสื้อเธอคนนั้น ในเหตุการนี้เราผิดเต็ม ๆ เราจะทำอย่างไรจากตัวเลือกต่อไปนี้
·         กล่าวว่า “ผมขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจ” แล้วก็เดินจากไป
·         กล่าวว่า “ผมขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจจะชนคุณเลย คุณไปเรียกร้องค่าเสียหายจากเพื่อนผมเอาเองนะ” แล้วก็เดินจากไป
·         กล่าวว่า “ผมขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจ เรียกร้องค่าเสียหายจากเพื่อนผมเลยนะ” แต่สาวคนนั้นบอกว่า “กำลังจะไปสัมภาษณ์งาน ฉันอาจจะตกงานเพราะเหตุการณ์นี้ก็เป็นได้นะ” แล้วเราตอบว่า “ก็ขอโทษแล้ว ยังจะเอาอะไรอีก ผมก็บอกคุณแล้วไงว่าไปขอการชดเชยจากเพื่อนผม

ไม่ว่าจะเราเลือกแบบไหนก็ดูตลกทั้งนั้น แต่สิ่งที่เรามักพบเห็นทั่วไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อไหร่ มันจะเกิดเหตุการณ์แบบข้างต้นเลย คือ เจ้าของรถยนต์ที่เป็นฝ่ายผิด  (ที่มีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ) พอยอมรับผิดแล้วถือว่าเป็นจบ จากนั้นจะคอยปัดความรับผิดชอบต่อคู่กรณีตนเองไปที่บริษัทประกันภัยก่อน โดยแทบจะไม่สนใจด้วยซ้ำว่ามันอยู่ในขอบเขตความความคุ้มครองของกรมธรรม์หรือไม่ แม้แต่การติดต่อขอการชดเชยก็ยังให้คู่กรณีติดตามเอาเองโดยอาจจะไม่เคยคิดเคยว่า บริษัทประกันที่ตนเองให้ความไว้วางใจนั้นเล่นแง่กับคู่กรณีเลยหรือป่าว ผมเคยอ่านเจอกรณีนี้ในเว็บบอร์ดบ้าง เช่นใน http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=3b4e052058f640e4 หรือท่านเองก็น่าจะเคยผ่านตาในเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip เป็นต้น

ประกันภัยรถยนต์มีขอบเขตความคุ้มครองที่จำกัด
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ไม่ว่าชั้นประเภทไหน) จะกำหนดขอบเขตความคุ้มครองเบื้องต้นเพียงแค่ ตัวร่างกายและตัวทรัพย์สินเท่านั้น ไม่ได้ชดเชยเกี่ยวค่าเสียหายอื่น ๆ ในหลายๆกรณี แม้แต่การซ่อมแซมรถยนต์ก็ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอน อย่างเก่งก็แค่ออกใบเคลมเท่านั้น แม้แต่ระยะเวลาที่ดำเนินการซ่อมแซมนั้นก็ยังไม่ได้ทำให้ระยะการคุ้มครองมันเพิ่มขึ้นเลย มันจึงมักมีเรื่องตามมาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเราเป็นฝ่ายผิดแต่คู่กรณียังไม่ยอมความเสียทุกเรื่อง  (ซึ่งมันก็เป็นสิทธิ์ของเขาส่วนหนึ่ง) เราควรเผชิญหน้ากับคู่กรณีด้วยตนเองด้วยและเจรจากันแบบแฟร์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

เราจะชดเชยเพิ่มเองอย่างไรดีที่เรียกว่าตามสมควร
เราควรรับฟังข้อเรียกร้องของคู่กรณีและแสดงออกถึงความพยายามที่จะรับผิดชอบ แต่การที่จะชดเชยอย่างไรนั้นมันก็ต้องสมเหตุสมผล การทำดีไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องใช้สมองจนตกเป็นเบี้ยล่างตลอด
ตัวอย่าง
เราขับรถไปชนรถคนอื่นเสียหาย เราเป็นฝ่ายผิด ถ้าคู่กรณีต้องใช้รถเดินทางทุกวัน แต่รถต้องรอซ่อมอีกนาน ช่วงนี้ต้องเดินทางวันละ 60 กิโลเมตร เขาต้องจ่ายค่าแท็กซี่ทุกวัน วันละ 300 บาท เขาคง "เรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมจากบริษัทประกันภัยฝ่ายเรา (ถ้าทำได้) แต่ประกันเองก็อาจจะไม่ได้จ่ายให้ตามนั้น (จะด้วยเพราะอะไรก็ตามแต่) คู่กรณีจึงขอการชดเชยส่วนนี้เพิ่มจากเราทุกวันจนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ (อาจจะรวมนับกรณีต้องใช้รถประกอบอาชีพ)

กรณีนี้ไม่มีบริษัทไหนชดเชยเพิ่มให้ทันทีที่ขอแน่นอน หรือกว่าจะขอได้ก็วินกันยาว ถ้าเราเอาแต่บอกปัดให้เขาไปไปเรียกร้องเอาจากบริษัทประกันเองเอง ผมว่าถ้าเขาหัวหมอพอและเราประมาทเกินไป เราก็อาจจะแพ้คดีได้ แต่ถ้าตอบตกลงทันทีก็ดูจะเอาเปรียบกันเกินไป ดังนั้น คงต้องเปิดโต๊ะเจรจาแบบสันติกับคู่กรณีและช่วยติดตามความคุ้มครองให้เขาเท่านั้น ซึ่งก่อนเจรจาเราต้องเตรียมข้อมูลเบื้องต้นด้วย (แบบสมเหตุสมผลทั้ง 2 ฝ่าย) เช่น
·                     ตรวจสอบวงเงินชดเชยที่เรามี และเขารับไปแล้วเท่าไหร่
·                     ถ้าเขาขับรถเอง อาจจะต้องเสียน้ำมันประมาณวันละ 6 ลิตร ดังนั้น เขาต้องรับภาระเองอย่างน้อยก็ประมาณ 180 บาท ยังไม่รวมค่าสึกหรอต่าง ๆ (แล้วจะมาเรียกร้องจากเราตั้ง 300 บาทได้อย่างไร)
·                     ถ้าเขาขับรถเอง เขาก็เสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบในการเฉี่ยวชน (ตราบใดที่มีการใช้รถ มันก็เป็นเรื่องปกติที่อุบัติเหตุมันเกิดได้ตลอด)
·                     เขามีโอกาสถูกมิจฉาชีพในคราบคนขับแท็กซี่ปล้นได้ (แล้วเราหาแท็กซี่เจ้าประจำที่เรารู้จักให้เขาได้มั้ย แบบไปรับหน้าบ้านประจำทุกวัน)
·                     บางครั้งการรอซ่อมไม่ได้แปลว่ารถมันใช้งานไม่ได้เสียเลย เอารถไปใช้งานก่อน เมื่อคิวซ่อมมาถึงค่อยเอารถไว้ที่อู่ได้มั้ย (ลองถามอู่ซ่อมดูว่ามันมีวิธีใดบ้าง)
·                     สามารถเช่ารถจากที่อื่นใช้แทนได้มั้ย (เช็คประกันภัยฝ่ายเราว่าคุ้มครองได้แค่ไหน)
·                     ฯลฯ
หากเราเตรียมข้อมูลสำหรับโต้แย้งการเคลมแบบเว่อร์ที่แฟร์ ๆ แสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่างดี และคู่กรณีเขามีเหตุผลพอ เราอาจจะไม่ต้องชดเชยอะไรเพิ่มมากจนเกินไป หรือไม่ก็ไม่ต้องถูกฟ้องร้องให้ชดเชยอะไรเพราะบรรยากาศการพูดคุยที่ดีก็เป็นได้ อย่าลืมครับว่า ประกันไม่ได้ทำหน้าที่แทนเราทั้งหมดได้หมดครับ


วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ค่าเสียหายส่วนแรก (Excess และ Deductible)

เรามักจะได้ยินคำนี้เวลาพูดถึงการเคลมประกันภาคสมัครใจ แต่เราเข้าใจเรื่องนี้ดีพอมั้ยครับ หรือเคยรู้มั้ยครับว่า บางครั้งการยอมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกกลับจะทำให้เราประหยัดค่าเบี้ยประกันลงได้มากทีเดียว หรืออย่างน้อยก็เหมือนชะลอการจ่ายเบี้ยประกันให้ช้าลง ลองมาทำความเข้าใจกันดู

สำหรับความหมายโดยรวมของ ค่าเสียหายส่วนแรก คือ ค่าความเสียหายส่วนแรก แปลง่าย ๆ ก็คือ ค่าสินไหมทดแทนส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยตกลง  (ปลงใจ - สมัครใจ) รับภาระเอง โดยจะระบุไว้เป็นข้อตกลงในกรมธรรม์ นั่นเอง

ตัวอย่าง สมมติค่าเบี้ยประกันปกติอยู่ที่ 25,000 บาท แต่เราทำข้อตกลงกับบริษัทว่า หากเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง เราจะจ่ายค่าเสียหายในส่วนแรก 5,000 บาท (อาจจะซ่อมรถเรา หรือชดเชยค่าเสียต่อทรัพย์สินคนอื่น) เราจะได้สิทธิจ่ายเบี้ยประกันลดลง 5,000 บาท ( จ่ายเบี้ยทำประกันรถยนต์แค่ 20,000 บาท) ในระหว่างที่อยู่ในระยะประกันนั้น ถ้าเกิดอุบัติเหตุและเราเป็นฝ่ายผิด เมื่อบริษัทประเมินความเสียหายแล้ว อยู่ที่ 8,000 บาท ดังนั้น เราต้องจ่าย "ค่าเสียหายส่วนแรก" เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้ตอนที่ทำกรมธรรม์ประกันรถยนต์ ส่วนที่เหลืออีก 3,000 บาท บริษัทจะจ่ายต่อไป แต่ถ้าความเสียหายไม่เกิน 5,000 บาท เราก็จ่ายให้คู่กรณีตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

ที่มาของกฎนี้ คือ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ต้องการให้เราไม่ประมาทและให้เราเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่รถให้ปลอดภัย ไม่เกิดค่านิยมคอยโยนภาระของตนเองให้คนอื่น ๆ (บริษัทประกัน) หรือไม่ตระหนักป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนอื่น (เพราะคิดว่าไม่ต้องทำอะไร ประกันจะทำให้หมด ซึ่งเป็นค่านิยมและความเข้าใจที่ผิด)

ดังนั้น ค่าเสียหายส่วนแรก ทั้ง Excess และ Deductible นั้น จะมีขึ้น (ต้องเสียตังค์) ก็ต่อเมื่อการเกิดเหตุความเสียหาย  (เพราะขับรถที่เราทำประกันภัยไว้) และเราหรือผู้ขับขี่รถ (ที่ทำประกันภัย) เป็นฝ่ายต้องรับผิดในเหตุการณ์นั้น ๆ (ชนท้ายคนอื่น หรือซุ่มซ่ามชนประตูรั้วบ้านตัวเอง) หรือทำเราผิดจากสัญญาในกรมธรรม์เท่านั้นแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้ครับ

1. Excess (เอ็กเซส ไม่ใช่ แอ็คเซฟหรือแอคเซสตามที่หลายคนอ่านผิด)
ความเสียหายส่วนแรกในกรณีทำผิดสัญญา พูดง่าย ๆ คือ เรา (ผู้เอาประกันภัย) เป็นฝ่ายผิดไม่พอ ยังละเมิดข้อตกลงที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อีก พิกัดอัตราจึงเป็นไปตามที่ คปภ. กำหนดไว้ (ในที่นี้ยกตัวอย่างประกันชั้น 1) ได้แก่

1) กรมธรรม์แบบระบุชื่อคนขับ (เบี้ยประกันจะถูกว่าไม่ระบุชื่อคนขับ) แต่เราอนุญาตให้คนอื่นขับขี่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุและเป็นฝ่ายผิด เราจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายแต่ละครั้ง ดังนี้
ก. 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถ อาคาร กำแพง ฯลฯ)
ข. 6
,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของเรา (ที่เกิดการชน / คว่ำ)

2) ใช้รถผิดจากประเภทจากที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์ระบุการใช้รถยนต์ว่า ใช้ส่วนบุคคล ไม่ใช่รับจ้างหรือให้เช่า แต่เราเอาไปหาลำไพ่รับจ้างส่งของ เอาไปให้เช่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วคนที่ขับเป็นฝ่ายผิด เราต้องรับผิดชอบเอง 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถ อาคาร กำแพง ฯลฯ)

2. Deductible สำหรับ Deductible จะแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1: ความเสียหายที่ไม่เกิดจากการชนหรือคว่ำ หรือ ชนแต่หาคู่กรณีไม่ได้ หรือ เราไม่ได้ขับรถชนเองแต่เราไม่สามารถระบุเหตุความเสียที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบคนที่ต้องรับผิดชอบได้ เราจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก  1,000 บาท สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของเรา เช่น

1. ถูกมุ่งร้าย กลั่นแกล้ง แล้วหาคู่กรณีไม่ได้ เช่น รถถูกขีดข่วน
2. เสียหายส่วนพื้นผิวสีรถ  (ตัวรถและอุปกรณ์ในรถไม่เสียหาย) เช่น หินกระเด็นใส่ เฉี่ยวกิ่งไม้/สายไฟ/ลวดหนาม ขับรถตกหลุม / ครูดพื้นถนน เหยียบตะปูหรือของมีคมหรืออะไรที่ทำให้ยางฉีก ละอองสีปลิวมาโดน / วัสดุหล่นมาโดน
3. ระบุสาเหตุที่ทำให้รถเสียหายไม่ได้ รวมถึงระบุวัน เวลา สถานที่เมื่อรถเกิดความสียหายที่ชัดเจนไม่ได้ เช่น กระจกรถแตก ถูกสัตว์กัดแทะหรือขีดข่วนถูกวัสดุในตัวรถกระแทก
4. ไถลตกข้างทางแต่ยังไม่พลิกคว่ำ
5. ชนกับพาหนะอื่นแต่แจ้งรายละเอียดคู่กรณีไม่ได้ 

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไม่ต้องการจ่าย ต้องสามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นการชน หรือ ระบุเหตุความเสียที่ชัดเจนพอที่จะให้บริษัทประกันไปไล่เบี้ยหาต้นเหตุจนพบคนที่ต้องรับผิดชอบได้ เช่น
1. ชนกับพาหนะอื่นและแจ้งรายละเอียดคู่กรณีให้ได้  (ติดกล้องวงจรปิดสำหรับรถยนต์ไว้ชนครั้งเดียวก็คุ้มแล้ว)
2. ชนกับที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน
                - เสา / ประตู / เสาไฟฟ้า / กำแพง / ป้ายจราจร
                - ทรัพย์สินอื่นที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน
3. ชนต้นไม้ยืนต้น / ฟุตบาธ / ราวสะพาน
4. ชนกองดิน หรือชนหน้าผา
5. ชนคน / สัตว์
6. รถพลิกคว่ำ

กรณีที่ 2: ความเสียหายส่วนแรกโดยสมัครใจ โดยเป็นการตกลงกัน ระหว่างบริษัท (ประกันภัย) กับเรา (ผู้เอาประกัน) โดยบริษัทจะยินยอมลดเบี้ยประกันลงเท่ากับค่าเสียหายส่วนแรกที่เราสมัครใจจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นในแต่ครั้ง  (นอกเหนือกรณีการจ่ายค่า Excess หรือ deductible ในกรณีที่ 1) โดยเราสามารถเลือกได้ 2 ประเภทความคุ้มครอง คือ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของรถเราเอง  (ที่ทำประกัน ซึ่งก็ต้องเป็นกรณีของการชน) หรือคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ของคู่กรณีที่เกิดความเสียหาย)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการยอมจ่ายแบบสมัครใจก็คือว่า สถิติการขอเคลมประกันเฉลี่ย (หลายท่านอาจจะไม่เคยรู้)  ถ้าได้อ่านต่อไป ท่านจะสนใจแน่นอน
·                     1 คน จะขอเคลม 1 ครั้งในทุก 3 ปี สำหรับอุบัติเหตุทั่วไป 
·                     1 คน จะขอเคลม 1 ครั้งในทุก 10 ปี สำหรับอุบัติเหตุที่มีค่าความเสียหายมาก 

ดังนั้น ยิ่งถ้าเรามีความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ใช่พวกมือใหม่หัดขับ มีวินัยจราจร ไม่ใจร้อนซุ่มซ่าม โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุและเป็นฝ่ายผิดก็น้อยลงอีก เมื่อเราเลือกรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเอง เราก็จะประหยัดเบี้ยประกันภัยลง หรือแม้ต้องจ่ายอย่างน้อย 1 ครั้ง ก็เท่ากับชะลอการจ่ายเบี้ยประกันแบบไม่เลือกรับผิดผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกนั่นเอง

โดยสรุป
จะเห็นว่า เมื่อเราทำประกันภัยรถยนต์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องทำอะไรเลย หรือหากเราสมัครใจเลือกรับภาระเราเองบางส่วน (ซึ่งก็มาจากความผิดของเราเสียส่วนใหญ่) เราก็จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นนั่นเอง


วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประกันภัยภาคสมัครใจแต่ละประเภท

ชื่อก็บอกครับว่า ไม่ใช่ภาคบังคับแบบประกัน พ.ร.บ. เมื่อเป็น ภาคสมัครใจ แม้ ไม่ทำก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถ้าถึงคราวเกิดอุบัติเหตุ เราก็ต้องรับผิดชอบเองเต็ม ๆ แต่ถ้าทำไว้ อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา (แค่นั้นจริง ๆ ประกันภัยไม่ใช่เทพหรือของวิเศษที่จะรับผิดชอบทุกอย่างแทนเราหมดอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดกัน)

ประกันภัยรถยนต์บ้านเราแบ่งเป็น 5 ประเภท แต่บริษัทประกันพากันตั้งชื่อว่า "ชั้น" ซึ่งสั้นและเรียกง่ายกว่า ทั้งยังให้ผลทางจิตวิทยาแก่คนทำประกันภัยด้วย (ใคร ๆ ก็อยากเป็นคนชั้น 1 กันทั้งนั้น) โดยมีขอบเขตความคุ้มครองดังนี้

ความคุ้มครอง
ประกันภัย
ภาคสมัครใจ
ประกันภัยรถยนต์
ชั้น
4
ประกันภัยรถยนต์
ชั้น
3
ประกันภัยรถยนต์
ชั้น
2
ประกันภัยรถยนต์
ชั้น
1



รถเรา
เสียหาย
รถเราหาย / ไฟไหม้
รถเราหาย / ไฟไหม้
ร่างกาย *
คนในรถ+คนอื่น
ร่างกาย *
คนในรถ+คนอื่น
ร่างกาย *
คนในรถ+คนอื่น
รถ / ทรัพย์สิน **
คนอื่น
รถ / ทรัพย์สิน **
คนอื่น
รถ / ทรัพย์สิน **
คนอื่น
รถ / ทรัพย์สิน **
คนอื่น

ประกันภัยรถยนต์
ชั้น
5 (แบบ 3+)
ประกันภัยรถยนต์
ชั้น
5 (แบบ 2+)

ความคุ้มครอง
ประกันภัย
ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
ร่างกายของผู้ประสบอุบัติเหตุเพราะรถ
เสียชีวิต: 100,000 บาท  / บาดเจ็บ: 50,000 บาท

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 5เป็นแบบคุ้มครองภัยเฉพาะที่พัฒนาใช้งานขึ้นมาในเมืองไทยภายหลัง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. แบบ 2+ จะรับผิดต่อความเสียหายแบบประกันภัยชั้น  2 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี
2. แบบ 3+ จะรับผิดต่อความเสียหายแบบประกันภัยชั้น  3 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี
  
เงื่อนไขสำคัญของประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 5 ทั้ง 2 แบบคือ

1. ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และ
2. ต้องมีคู่กรณี ถ้าชนแล้วหนี หาพยานหลักฐานไม่ได้ ก็จะเคลมอะไรไม่ได้ครับ

หมายเหตุ
* ความเสียหายต่อร่างกายบุคคล รวมถึง การบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและอวัยวะ ทุพพลภาพ ฯลฯ เพิ่มจากส่วนที่ พ.ร.บ. คุ้มครอง และค่าประกันตัวผู้ขับขี่
คนในรถ หมายถึง บุคคลที่อยู่ภายในรถยนต์ หรืออยู่ระหว่างขึ้นลงรถยนต์
คนอื่น หมายถึง บุคคลที่3 นั่นคือ ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกรถ ยกเว้น ผู้ขับ คู่สมรส บุตร บิดา-มารดา และลูกจ้าง

** ความเสียหายต่อทรัพย์สินคนอื่น รวมถึง ตัวรถยนต์ อาคาร สิ่งของ ฯลฯ ที่เสียหายจากอุบัติเหตุรถยนต์



ถ้าเงื่อนไขกรมธรรม์ครอบคลุมผู้ประสบภัยแล้ว ต้องทำประกัน พ.ร.บ. หรือไม่
เดิมนั้นประกันทั้ง 2 จะแยกกัน ทำให้เงื่อนไขกรมธรรม์ภาคสมัครใจ (ส่วนคุ้มครองบุคคลที่ 3) จะซ้ำซ้อนกับประกัน พ.ร.บ. ต่อมาตั้งแต่ สิงหาคม พศ. 2551 (180 หลัง วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) เป็นต้นมา ประกันภาคสมัครใจจะเริ่มเป็นแบบควบ พ.ร.บ (Two in One) ซึ่งทำให้เบี้ยประกันโดยรวมลดลงเล็กน้อย (หลักร้อย) โดยประกันภาคสมัครใจที่ไม่รวม พ.ร.บ. จะยังมีอยู่ สังเกตจากใบกรมธรรม์จะมีข้อความคาดกลางกรมธรรม์ว่า ไม่รวม พ.ร.บ. 
ดังนั้น ถ้าใครซื้อรถใหม่มาแล้วทำประกันภัยรถยนต์เลย ก็สามารถได้ประกันทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ แต่ถ้าซื้อรถมือสองที่ไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจติดมาด้วย เมื่อมาทำประกันเพิ่ม ระยะเวลาเอาประกันอาจจะไม่ตรงกันกับวันต่อภาษีรถยนต์ ก็อาจจะต้องซื้อประกัน พ.ร.บ. แยกไปก่อน แต่ก็ควรซื้อจากบริษัทประกันเดียวกัน ตามที่กล่าวไว้ในบทความเรื่อง ประกัน พ.ร.บ. คืออะไร


การเลือกประกันภัยรถยนต์  ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าแบบใดจะดีที่สุด รถใหม่ป้ายแดงก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นประกันภัยชั้น 1 เสมอไป (นอกเสียจากเช่าซื้อกับไฟแนนซ์) แม้แต่ประกันภัยชั้น 1 ก็ไม่ได้แปลว่าจะแพงเสมอไป แต่มันขึ้นกับปัจจัยความเหมาะสมหลาย ๆ อย่างที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันว่าจะทำประกันภัยรถยนต์อย่างไรดี  เช่น การสมัครใจจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนแรก การใช้งานรถยนต์เพื่อพาณิชย์หรือใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ หลังจากที่ตัดสินใจทำประกันภัยรถยนต์แล้ว ก็ต้องพิจารณาหาบริษัทประกันภัยที่เหมาะสม ควรทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดี เพือจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากบริษัทประกันได้อย่างเต็มที่